หมกฮวก




หมกฮวก





ในช่วงต้นฝนจะเป็นช่วงฤดูกาลของการเริ่มทำนา ชาวนาจะพากันลงนาไถฮุด(ไถครั้งแรกเพื่อตากดิน) เมื่อมีฝนตกลงมาจะมีน้ำขังอยู่ตามรอยไถในทุ่งนานั่นเอง บรรดากบเขียดทั้งหลายที่รอดจากการถูกจับไปเป็นอาหาร ก็จะพากันวางไข่ไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ หรือบางตัวโชคดีหน่อยก็มีโอกาสขยายเผ่าพันธุ์ก่อนที่จะถูกจับกิน

คราวนี้หล่ะก็ได้เวลาที่บรรดาเราชาวอีสานทั้งหลายจะได้อร่อยลิ้นกับเมนูเด็ดที่ไม่ได้จะหากินกันง่ายๆนั่นคือ"หมกฮวก" จะได้กินก็เฉพาะช่วงนี้เท่านั้นนะไม่ได้มีนอกฤดูเหมือนผลไม้หรอก แบบนี้แหละที่ผมชอบนักหนา 

เมื่อถึงช่วงที่ ลูกกบ ลูกเขียด ออกจากไข่กลายเป็น "ฮวก"(ลูกอ๊อด) โตได้ขนาดแล้ว บรรดาเราจะเริงร่าเตรียม สวิงกับตะข้อง ที่เป็นอุปกรณ์หากินคู่ชีพฉวยได้ตรงลงไปยังทุ่งนาทันที เพื่อซ้อนเอาลูกฮวกที่มีอยู่ดาดดื่นในทุ่ง ลูกฮวกมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับว่ากบหรือเขียดที่ไข่ไว้ 

ผมจะเลือกเอาเฉพาะตัวโตๆ หรือเฉพาะฮวกกบ(เพราะมันอร่อยกว่า) เมื่อได้ลูกฮวกพอสมควรแล้ว ก็พากันกลับบ้าน อ้อบางทีนะหากโชคดีอาจได้แมงดานาไปให้แม่ทำป่นปลาใส่แมงดา(น้ำพริกปลาร้าใส่แมงดา)ให้อีพ่อนำ

แม่จะนำเอาลูกฮวกมาไซ่ขี้ออก(บีบขี้ออก) แล้วล้างน้ำ ส่วนข้อยอีแม่สิบอกให้ไปเก็บผักอีตู่(ใบแมงลัก) กับพริกขี้หนูและหัวซิงไค(ตะไคร้) ที่สวนหลังบ้าน อีแม่บอก"อย่าลืมตัดใบตองมานำเด้อ" คราวนี้ผมจะบอกถึงเมนูอร่อยว่ามีเครื่องปรุงอะไรบ้าง เผื่อบางคนจะอยากรับประทานก็ทำเองได้(แต่ขอบอกว่าอีแม่เฮ็ดแซ่บที่สุด) เอาหล่ะมาเริ่มกันเลย

เครื่องปรุงส่วนผสม


1.ฮวก บีบขี้ออกเรียบร้อยแล้ว(ขาดไม่ได้เลยเพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นหมกอย่างอื่น)1 ถ้วยหรือมากกว่า(ตามแต่จะหามาได้)

2.พริกขี้หนู ตามชอบ

3.ใบผักอีตู่(แมงลัก) เยอะหน่อย(ยิ่งเยอะยิ่งหอม)

4.หัวซิงไค(ตะไคร้) พอควร

5.เครื่องปรุงรส(เกลือ,น้ำปลาแดก,น้ำปลาและผงชูรส(ขาดไม่ได้นะ))

6.ใบตอง (อันนี้ก็ขาดไม่ได้เพราะถ้าขาดแล้วหมกจะเอาอะไรห่อ และจะเป็นห่อหมกได้อย่างไร)


วิธีทำ
1. ซอยหัวซิงไคไม่ต้องละเอียดมาก แล้วโขลกรวมกับพริงขี้หนู ใส่เกลือลงไปหน่อยจะได้แหลกไวๆ พอแหลกแล้วตักขึ้นใสชามเพื่อนำมาคลุกเคล้ากับฮวก เติมเกลืออีกหน่อย น้ำปลานิด เหยาะน้ำปลาแดกด้วย ผงชูรสตาม 

2. เมื่อเคล้ากันดีแล้ว เอาใบผักอีตู่ลงไปคลุกพอเข้ากัน 

3. ตักใส่กระทงใบตองที่เตรียมไว้ กลัดด้วยไม้ขอย้ำไม้นะไม่ใช่ลวด 

4. เสร็จแล้วนำไปตั้งบนเตาไปใช้ไฟกลางๆไม่แรงเกินและไม่อ่อนเกิน ทางสายกลางน่ะ อ้อลืมบอกใบตองน่ะไม่ต้องหวง 2-3 ชั้นได้เลยถ้าชั้นเดียวหมกจะไหม้อดกินกันพอดี 

5. สังเกตว่าน้ำห่อหมกจะเริ่มไหลออกมาช่วงนี้ห่อหมกเริ่มส่งกลิ่นเรียกเพื่อนบ้านแล้ว(ไม่อยากให้มาเลยเดี๋ยวได้กินน้อยแต่ก็ห้ามกลิ่นไม่ได้มันดื้อ ฟังไม่รู้ภาษาคน หนหวย)

6. สักพักพอน้ำแห้งแล้วกลิ่นจะยิ่งหอมแรงขึ้น แสดงว่าสุกแล้ว ตักเสริฟได้ทันทีกินกับข้าวเหนียวร้อนๆ โอ้ยอีแม่เอ้ยข้อยคึดฮอดบ้าน

อีกอย่างที่อร่อยไม่แพ้กันนักคือ หมกลูกครอก(ลูกปลาชอ่นตัวเล็ก) ที่กำลังแดงๆอยู่กันเป็นฝูง จะเริ่มมีลูกครอกก๊ช่วงที่น้ำเยอะแล้วข้าวเริ่มเขียวนั่นแหละจึงจะหาลูกครอกได้
ที่มาชื่ออื่น 
หมกอี่ฮวก(เหนือ) หมกฮวก(อีสาน) ห่อหมกลูกอ๊อด(กลาง) 
http://www.bloggang.com/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ก้อยกุ้ง

อ็อกปลา